ก-ด
กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี : สำนวนคำพังเพยประโยคนี้เป็นสำนวนเก่า ซึ่งอาจจะมีมาจากครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้เพราะปรากฏมีหลักฐานในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนเถรกวาดแก้แค้นพลายชุมพลตอนหนึ่งด้วยว่า " คนดีไม่สิ้นอยุธยา " สำนวนนี้เป็นความหมาย ี้อธิบายอยู่ในตัวแล้ว " คนดี " ก็คือคนเก่งหรือผู้มีความสามารถในทางต่อสู้และความคิดอยู่พร้อม อย่าชะล่าใจนักจักเสียที.
กลิ้งครกขึ้นภูเขา : สำนวนนี้ มักจะพูดกันว่า ''เข็นครกขึ้นภูเขา '' กันส่วนมาก แต่แท้จริง '' ครก '' ต้องทำกริยา '' กลิ้ง '' ขึ้นไปจึงจะถูก กล่าวคำว่า '' เข็น '' แปลว่า เรื่องที่กำลังจะทำหรือจะทำให้สำเร็จบรรลุผลนั้น ยากลำบากแสนเข็ญมิใช่ของที่ทำได้ง่ายนักเปรียบได้กับ การกลิ้งครกขึ้นภูเขาไปสู่ยอดเขา
กลืนไม่เข้าคายไม่ออก : แปลว่าหมดหนทางที่จะทำหรือไม่รู้จะทำอย่างไรดีหรือ เป็นการทำให้ตัดสินใจไม่ถูก เพราะจะไม่ทำลงไปก็ไม่ดี ทำลงไปก็ไม่ดีเป็นการยากที่จะตัดสินใจทำลงไปได้ง่าย เหมือนก้างปลาหรือเศษอาหารอะไรอย่างหนึ่ง เข้าไปติดอยู่กลางลำคอกลืนก็ไม่เข้าคายก็ไม่ออก.
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ : สำนวนพังเพยนี้ มาจากการคั่วถั่วกับงาในกระทะเดียวกัน ถั่วเป็นของสุกช้างาสุกเร็วมัวรอไห้ถั่วสุก งาก็ไหม้เสียก่อน สำนวนนี้หมายถึงการทำอะไรสองอย่างพร้อมกันหรือทำอะไรสักอย่างที่ไม่รอบคอบ มัวคิดแต่จะได้ทางหนึ่งต้องเสียทางหนึ่งในความหมายอีกแง่ก็แปลว่าการทำอะไรมัวรีรออยู่ ไม่รีบลงมือทำเสียแต่แรกครั้นพอลงมือจะทำ ก็ไม่ทันการเสียแล้วเพราะคนอื่นเขาเอาไปทำเสียก่อน.
กำขี้ดีกว่ากำตด : ความหมายว่า ได้ในสิ่งที่เห็นหรือเป็นของได้แน่ ดีกว่าคิดอยากได้ในสิ่งหรือของที่ไม่เห็นเหมือนไม่มีตัวตน
การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อพ่อไม่สู้ใคร : สำนวนนี้อธิบายความหมายอยู่ในตัวแล้วแสดงว่า เรื่องกินแล้วเก่งจนไม่มีใครสู้แต่ถ้าเรื่องงานแล้วยอมแพ้ ซึ่งแปลว่าขี้เกียจนั้นเอง.
กินที่ลับไข่ที่แจ้ง : สำนวนนี้ มีความหมายไปในทำนองที่ว่า ทำอะไรไว้ในที่ลับแล้วอดปากไว้ไม่ได้เอามาเปิดเผย ให้คนทั้งหลายรู้เพื่อจะอวดว่าตนกล้าหรือสามารถทำอย่างนั้นได้โดยไม่กลัวใครผิดกฎหมาย อะไรทำนองนั้นหรือไม่กลัว
กินน้ำใต้ศอก : หมายไปในทางที่ว่าถึงจะได้อะไรสักอย่างก็ไม่เทียมหน้าหรือไม่เสมอหน้าเขา เช่นหญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย ก็เรียกว่า "กินน้ำใต้ศอกเขา" ที่มาของสำนวนนี้ คนในสมัยก่อนอธิบายว่า คนหนึ่งเอาสองมือกอบน้ำมากิน มากิน อีกคนหนึ่งรอหิวไม่ไหวเลยเอาปากเข้าไปรองน้ำที่ไหลลงมาข้อศอก ของคนกอบน้ำกินนั้นเพราะรอหิวไม่ทันใจ.
กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา : แปลว่าคนที่เนรคุณคนเปรียบได้กับคนที่อาศัยพักพิงบ้านเขาอยู่แล้ว คิดทำมิด ีมิชอบให้เกิดขึ้นภายในบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้านที่ให้อาศัยต้องเดือดร้อนคนโบราณเอาลักษณะของแมวที่ไม่ดี คือกินแล้วไม่ขี้ให้เป็นที่กลับขึ้นไปขี้บนหลังคาให้เป็นที่สกปรกเลอะเธอะเพราะคนสมัยก่อนต้องการให้หลังคาสะอาดเพื่อรองน้ำฝนไว้กิน
จึงเอาแมวชั่วนี้ มาเปรียบเทียบกับคนชั่วที่ไม่รู้จักบุญคุณคน.
กินปูนร้อนท้อง : สำนวนนี้มาจากตุ๊กแก ว่ากันว่า ตุ๊กแกที่กินปูน (ปูนแดงที่กินกับหมากพลู )
มักจะทำอาการกระวนกระวาย ส่งเสียงร้องแกร็กๆ เหมือนอาการร้อนท้องหรือปวดท้อง
จึงนำเอามาเปรียบกันคนที่ทำพิรุธหรือทำอะไรไว้ไม่อยากให้ใครรู้แต่เผอิญมีใครไปแคะได้ หรือเรียบเคียงเข้าหน่อยทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เจตนาเจาะจงแต่ตัวเอง ก็แสดงอาการเป็นเชิงเดือดร้อนออกมาให้เขารู้ สำนวนนี้มักพูดกันว่า " ตุ๊กแกกินปูนร้อนท้อง ".
กินน้ำเห็นปลิง : แปลว่า สิ่งใดที่ต้องการ ถ้าสิ่งนั้นมีสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ทำให้รังเกียจหรือตะขิดตะขวงใจไม่อยากได้เปรียบดังที่ว่าปลิงเป็นสัตว์น่ารังเกียจอยู่ในน้ำ เวลากินน้ำมองเห็นปลิงเข้าก็รู้สึกรังเกียจขยะแขยงไม่อยากกิน
สำนวนนี้มีนักเขียนเอามาเขียนเอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง.
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน : " เบี้ย " ในสมัยก่อนเป็นพวกหอยชนิดหนึ่งเรียกว่า " เบี้ยจั่น " ใช้เป็นเงินแลกเปลี่ยนซื้อของได้ แต่มีราคาต่ำแปลตามตัวอักษรนี้ก็ว่าเก็บเบี้ยที่ตกอยู่ตามใต้ถุนร้าน หรือแผงลอยวางของขายซึ่งตกหล่นอยู่บ้าง เพราะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเบี้ยกับของโดยไม่เห็นว่าจะเป็นเบี้ยมีราคาต่ำ สำนวนนี้จึงแปลความหมายว่าถึงจะทำงานเล็กใหญ่ หรือค้าขายอะไรก็ตาม ก็พยายามค่อย ๆ ทำให้มีผลได้แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้หลุดลอยไปเสีย.
เกลียดขี้ขี้ตาม เกลียดความความถึง : สำนวนนี้ ไม่ทราบที่มาหรือมูลของสำนวนแน่ชัด
แต่ก็เป็นที่รู้ ความหมายกันทั่วไปว่า หมายถึง การที่คนเราเกลียดสิ่งไหนแล้วมักจะได้สิ่งนั้นเปรียบได้กับชายที่เกลียด ผู้หญิงขี้บ่นจู้จี่แต่มักลงท้ายกลับไปได้ภรรยาขี้บ่นจู้จี่เข้าจนได.
้ เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง : สำนวนนี้มีความหมายแตกต่างกับประโยค " เกลียดขี้ขี้ตาม " เพราะแปลความหมายไปในทางที่ว่าเกลียดตัวเขาแต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา หรือของ ๆ เขา ตามความหมายเปรียบเทียบของสำนวนที่ว่าเช่นเกลียดปลาไหลในรูปร่างของมัน แต่เมื่อเอามาแกงมีรสหอมก็ทำให้อดอยากกินแกงไม่ได้ถึงแม้จะไม่กินเนื้อปลาไหลเลยก็ตาม.
แกว่งเท้าหาเสี้ยน : หมายถึงคนที่ชอบทำอะไรเป็นการสอดแทรกเข้าไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่นเข้า จนกระทั้งกลาย เป็นเรื่องกับตัวเองจนได้เสมอ เรียกว่าชอบสอดเข้าไปเกี่ยวสำนวนในปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เป็นว่า " แกว่งปากหาเท้า " เสียแล้ว เพื่อให้ความชัดเจนขึ้น.
ไก่กินข้าวเปลือก : สำนวนคำพังเพยประโยคนี้ ถ้าพูดให้เต็มความก็ต้องพูดว่า " ตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือกอยู่ ตราบนั้นคนเราก็ยังอดกินสินบนไม่ได " เข้าใจว่าเป็นคำพังเพยของจีน ๆ เอามาใช้เป็นภาษาของเขาก่อน แล้วไทยเราเอามาแปลเป็นภาษาไทยใช้กันอยู่มากในสมัยก่อน ๆ.
ใกล้เกลือกินด่าง : หมายความว่า สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ไม่เอา กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายากเปรียบได้ว่าเกลือหาง่ายกว่าด่าง ความหมายอีกทางหนึ่งหมายถึงว่าอยู่ใกล้กับของดีแท้ ๆ แต่ไม่ได้รับเพราะกลับไปคว้าเอาของที่ดี หรือมีราคาด้อยกว่าคือด่างซึ่งมีรสกร่อยหรืออ่อนเค็มกว่าเกลือ.
ขนมพอผสมกับน้ำยา : ที่มาของสำนวนคำพังเพยนี้เข้าใจว่ามาจาก " ขนมจีนน้ำยา " ที่เราเคยรับประทานกันมาแล้ว คือ ขนมจีนกับน้ำยาจะต้องผสมให้เข้ากันหรือได้ส่วนพอเหมาะ จึงจะรับประทานอร่อยเรียกว่าเวลาตักน้ำยาราดขนมลงบนขนมจีน ต้องกะส่วนให้พอลงคลุกผสมกับขนมจีนได้พอเหมาะ หรือให้มีสัดส่วนเข้ากันพอดีทั้งสองฝ่าย เมื่อรับประทานแล้วเกิดอร่อยไม่ใช่ว่าขนมจีนอร่อย หรือน้ำยาอร่อยแต่อร่อยด้วยกันทั้งสองอย่าง เรียกว่า " พอดีกัน " จึงเกิดเป็นสำนวนที่ตีความหมายเอาว่า ทั้งสองฝ่ายต่างพอดีกัน จะว่าข้างไหนดีก็ไม่ได้.
ขี่ช้างจับตั๊กแตน : หมายความว่า ลงทุนเสียมากมายเพื่อทำงานเล็ก ๆ เท่านั้น เป็นทำนองว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุน หรือทำให้เป็นการใหญ่โตเลย หรือแปลความหมายสั้น ๆ " ทำงานใหญ่เกินตัว "
ขี่ช้างอย่าวางของ : เป็นสำนวนเปรียบเทียบเตือนใจว่าการที่มีลูกน้อง หรือมีผู้น้อยอยู่ในความปกครอง บังคับบัญชาของเรา ก็อย่าประมาทละเลยเสีย ต้องหมั่นกวดขันกำชับ เปรียบได้กับคนขี่ช้างต้องคอยถือขอสับช้างบังคับช้างไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้าวางของหรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้ ช้างก็อาจพาลเกเรไม่ทำงานได้.
ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น : สำนวนนี้หมายถึง การทำอะไรที่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่วร้ายเลวทรามหรือการทุจริต โดยไม่มีความละอายใจให้ผู้อื่นเห็น โดยเฉพาะหมายถึงผู้ใหญ่ที่ทำให้ผู้น้อยเห็นอย่างชัดแจ้ง.
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม : แปลตามประโยคสำนวนก็ว่า เข้าเมืองตาบอดข้างเดียว ถึงแม้ตาเราไม่บอด ก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวตามเขาไปด้วย ( ตาหลิ่ว ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียวหรือคนตาเดียว ไม่ใช่หมายถึงทำตาหลิ่ว หรือหลิ่วตา ) หมายความว่า ที่แห่งใดเขาประพฤติตามเขาไปด้วย อย่าไปประพฤติขัดแย้งกับเขา.
ขว้างงูไม่พ้นคอ : หมายความว่า มีภาระหรือมีเรื่องเดือดร้อน ทั้งของตนเองและที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ไม่สามารถจะแก้ไขให้รอดพ้นไปได้.
ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง : สำนวนนี่เปรียบเทียบได้สองทาง ทางหนึ่งก็หมายถึงสิ่งที่แลดูภายนอกเป็นของดีหรือของแท้ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ของดี หรือของแท้นัก อีกทางหนึ่งก็เปรียบได้กับสตรีที่งามแต่รูป แต่กิริยาและความประพฤติไม่ดี หรืองามเหมือนรูป ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า " ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง "
ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง : สำนวนตรงข้ามกับ " ข้างนอกสุกใส " คือดูแต่ภายนอกไม่งาม แต่แท้จริงกลับเป็นของแท้ของงาม สตรีที่มีรูปร่างขี้ริ้วไม่งดงาม แต่กิริยามารยาทเรียบร้อย จิตใจก็ดีงาม ตรงข้ามกับรูปร่าง.
ข้าวใหม่ปลามัน : คนในสมัยโบราณถือว่า " ข้าวใหม่ปลามัน " คือข้าวที่เก็บเกี่ยวในครึ่งปีหลัง เป็นข้าวที่ดีกว่าข้าวเก่า และปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว " ปลามัน " หมายถึงปลาในฟดุน้ำลดมีมันมาก รับประทานอร่อย จึงมาผูกเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบเช่น สามีภรรยาที่เพิ่งจะแต่งงานกันใหม่ ๆ ย่อมจะอยู่ในระหว่างกำลังเสพสุขสมรสมีรสชาติ.
เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า : สำนวนนี้ เวลาพูดมักจะใช้คำตรง ๆ ว่า " เขียนด้วยมือลบด้วยตีน " เป็นความเปรียบเปรยถึง คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ หรือเปรียบอีกทางหนึ่งถึงคนที่ออกคำสั่ง หรือให้สัญญาไว้แต่แรกอย่างหนึ่ง แล้วปุบปับกลับเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือสัญญานั้นเสีย ให้อยู่ในลักษณะตรงข้ามโดยไม่มีเหตุผล.
เขียนเสือให้วัวกลัว : ตามธรรมชาติ เท่าที่รู้จักกันอยู่ว่า วัวเป็นสัตว์ที่กลัวเสืออยู่มาก แม้จะมีรูปร่างใหญ่โตกว่าเสือก็ตามแต่ และวัวมักจะเป็นเหยื่อเสือเสียส่วนมาก เขาจึงเอามาเป็นสำนวนพังเพยเปรียบเทียบถึง การที่ทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นการข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อนให้กลัว เรียกว่า " เขียนเสือให้วัวกลัว ".
ขมินกับปูน : สำนวนนี้หมายถึง คนที่ไม่ลงลอยกัน หรือ รสนิยมเข้ากันไม่ได้ เมื่ออยู่ใกล้กัน ก็มักเป็นปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เปรียบดังขมิ้นกับปูนที่กินกับหมาก.
คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย : สำนวนนี้เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อเวลาไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัยนัก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกว่า " หัวหาย " ถ้าไปด้วยกันสองคน ก็อาจจะช่วยขจัดเหตุร้ายหรือเป็นเพื่อนอุ่นใจได้ดีกว่าไปคนเดียว.
คนตายขายคนเป็น : หมายถึงคนที่ตายไปแล้ว มีหนี้สินติดตัวอยู่มาก ทำให้คนที่อยู่ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติพี่น้องต้องรับผิดชอบใช้หนี้ และมิหนำซ้ำต้องเป็นภาระในการจัดทำศพ ซึ่งถ้าหากไม่มีเงินเลยก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาทำศพด้วย.
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ : เปรียบผืนหนังของสัตว์ส่วนมากย่อมจะมีผืนเล็กกว่าเสื่อ ฉะนั้นสำนวนนี้ก็หมายถึงว่า คนที่จะรักเราจริง ๆ มีน้อยแต่คนเกลียดหรือคนชังเรามีเป็นส่วนมากกว่า.
คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม : แปลว่า คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้.
คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล : สำนวนนี้ มีความหมายหรือคำบรรยายอยู่ในตัวแล้ว คือคบคนชั่ว คนชั่วก็ชักพาเราให้พลอยไปทำชั่วด้วย ถ้าคบคนดีมีความรู้ ก็ทำให้เราได้รับผลดีหรือได้รับความรู้ดีตามไปด้วย.
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก : หมายความว่า มีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไขหรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก กลายเป็น ๒ เรื่องขึ้นในคราวเดียว.
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด : สำนวนนี้ หมายถึงคนที่มีวิชาความรู้ดี หรือรู้สารพัดเกือบทุกอย่าง แต่ถึงคราวเกิดเรื่องขึ้นกับตัวเอง กลับจนปัญญาแก้ไข หรือความหมายอีกทางหนึ่งว่า มีความรู้อยู่มากมายแต่ใช้วิชาหากินไม่ถูกช่อง ทำให้ต้องตกอยู่ในฐานะยากจนอยู่เรื่อยมา สู้คนที่ไม่รู้หนังสือเลย แต่หากินจนร่ำรวยไม่ได้.
โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ : สำนวนนี้ มีประโยคต่อท้ายสัมผัสกันด้วยว่า " ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก " แต่เรามักพูดสั้น ๆ ว่า " โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ " หมายความว่าจะคิดกำจัดศัตรู ปราบพวกคนพาลให้หมดสิ้นทีเดียวแล้ว ก็ต้องปราบให้เรียบอย่าให้พรรคพวกของมันเหลือไว้เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นพวกที่เหลือนี้จะกลับฟื้นฟูกำลังขึ้นมาเป็นศัตรูกับเราภายหน้าได้อีก ทำนองเดียวกับที่ว่า ถ้าเราจะขุดตอไม้ทิ้ง เราก็ต้องขุดทั้งรากทั้งโคนมันออกให้หมดอย่าให้เหลือไว้จนมันงอกขึ้นมาภายหลังได้อีก.
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก : สำนวนนี้หมายถึง การที่จะทำงานใหญ่ ๆ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจำนวนมาก ๆ แล้ว ก็อย่าเสียดายเงินทองหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องเสียที่เดียวนัก เปรียบเหมือนฆ่าควายทั้งตัวเพื่อจะปรุงอาหารมาก ๆ ก็อย่าเสียดายพริกที่จะต้องใช้แกงหรือผัด มิฉะนั้นอาหารจะเสียรสเพราะเนื้อควายกับพริกแกงไม่ได้สัดส่วนกัน.
ฆ่าช้างเอางา : หมายความว่า ลงทุนลงแรงเพื่อทำลายของหรือสิ่งสำคัญใหญ่ ๆ โต ๆ เพียงเพื่อต้องการจะได้ของสำคัญชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่สมกับค่าของ ๆ ที่ถูกทำลายลงไป เช่นทำลายชีวิตคน เพื่อต้องการทรัพย์สิน หรือของมีค่าเล็กน้อยของคนผู้นั้นมาเป็นประโยชน์ของตน โดยไม่คิดว่าชีวิตของผู้นั้นมีค่ากว่าทรัพย์สินก้อนนั้น หรือเป็นการไม่สมควรเพราะผิดกฎหมายร้ายแรง เช่นนี้ก็เรียกว่า " ฆ่าช้างเอางา " ได้เช่นเดียวกัน.
งมเข็มในมหาสมุทร : สำนวนนี้เปรียบเทียบ มหาสมุทรซึ่งเป็นสถานที่กว้างใหญ่ลึกลับ เมื่อเข็มเย็บผ้าเพียงเล่มเดียวที่ตกลงไปยังก้นมหาสมุทร จึงย่อมค้นหาไม่ใช่ของง่ายนัก หรือไม่อาจจะค้นหาได้ เปรียบได้กับการที่เราจะค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ในวงกว้าง ๆ ไม่มีขอบเขต ย่อมสุดวิสัยที่เราจะค้นหาได้ง่าย.
งูเห็นนมไก่ ไก่เห็นตีนงู : คำพังเพยสำนวนนี้ จะพูดสลับกัน คือเอาประโยคหลังขึ้นก่อนก็ได้ว่า " ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ " เพราะความหมายสัมพันธ์กัน ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเราจะไม่เคยได้เห็น " ตีนงู " หรือ " นมไก่ " เลย เพราะงูไม่มีตีนและไก่ก็ไม่มีนม ความหมายของสำนวนจึงแปลว่า คนสองคนต่างคนต่างเห็นหรือรู้เรื่องเดิมหรือรู้ความในกันดี แต่คนอื่นอาจไม่เห็น หรือไม่รู้เรื่องของคนสองคนนี้เลย เช่น คนสองคนทำตนเป็นคนมั่งมีหรือมีความรู้สูงเพื่ออวดคนอื่น ๆ แต่ทั้งสองคนนี้ต่างรู้ไส้กันดีว่าแท้จริงแล้วต่างคนต่างไม่มีเงิน หรือไม่มีความรู้เลยเมื่อมาพบกันเข้าจึงเท่ากับว่า " ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ".
จอดเรือไม่ดูท่า ขี่ม้าไม่ดูทาง : หมายถึง การทำอะไรไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งอาจจะเกิดการผิดพลาดหรือเสียหายได้ เปรียบได้กับการจอดเรือหรือขี่ม้า ถ้าไม่ตรวจดูท่าจอดให้แน่นอน หรือไม่ดูหนทางที่จะขี่ม้าไปว่าจะเหมาะหรือไม่ ผลเสียหายก็ย่อมเกิดขึ้นได้ สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า " จอดเรือให้ดูฝัง จะนั่งให้ดูพื้น " ซึ่งมีความหมายในทางตักเตือนไว้ก่อน.
จ้าวไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด : เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนที่เร่ร่อนไม่มีที่อยู่ประจำเป็นหลักแน่นอน.
โจรปล้น ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว : สำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่ในตัวแล้ว ถึงแม้คนเราจะถูกโจรขึ้นปล้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งหรือมากกว่านั้น ก็ยังไม่ทำให้ข้าวของ หรือทรัพย์สินบางอย่างภายในบ้านเราถึงขนาดหมดเกลี้ยงตัวเลยทีเดียวนัก แต่ไฟไหม้ครั้งเดียว เผาผลาญทั้งทรัพย์สิน และที่อยู่เราวอดวายเป็นจุลไปหมด โบราณจึงว่า " โจรหรือขโมยขึ้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว ".
จับปลาสองมือ : เป็นสำนวนหมายถึง คนที่มุ่งหวังอยากจะได้ทีเดียวพร้อม ๆ กันสองอย่าง โดยไม่คำนึงว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ เปรียบได้กับการใช้มือจับปลาตัวเดียวให้มั่นดีกว่าจับด้วยมือเดียวหรือข้างละตัว ซึ่งอาจจะไม่มั่นพอ ทำให้ปลาทั้งสองตัวหลุดตกน้ำไปหมดเลยก็ได้ สำนวนนี้เปรียบเทียบได้กับการที่ผู้ชายเราคิดจะมีภรรยาทีเดียวสองคน โดยวิธีเกี้ยวผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน.
จับแพะชนแกะ : หมายถึง การทำอะไรที่ขาดความเรียบร้อยไม่เป็นกิจลักษณะ คือเอาทางโน้นมาใช้ทางนี้ เอาทางนี้ไปแทนทางโน้น สับสนวุ่นวายไปหมดหรือทำให้ไม่ประสานกันหรือไม่ต่อเนื่องกัน เท่ากับเอาแพะมาชนกับแกะ เพราะแกะเป็นสัตว์ต่างพันธุ์หรือต่างชนิดกัน และไม่เคยปรากฏว่าแพะกับแกะจะมีผู้เคยเอามาชนกันมาก่อน.
จับเสือมือเปล่า : สำนวนนี้ ใช้เปรียบกับการที่ทำงานอะไรสักอย่างโดยไม่ต้องลงทุน หรือไม่มีทุนจะลงเลย ซึ่งอาจจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ก็ตามเรียกว่าเป็นการลองเสี่ยง หรือใช้ความสามารถของตนเองเป็นหลักใหญ่เข้าทำ.
จับปูใส่กระด้ง : โดยสัญชิาตญาณ ปูมักไม่คอยจะอยู่นิ่งเมื่อจับไปวางตรงไหน มันก็พยายามจะไต่ไปไต่มาเพื่อจะหาทางออก หรือคิดหนีไปท่าเดียว เปรียบได้กับคนหรือเด็กเล็ก ๆ ที่ซกซนอยู่ไม่นิ่ง ถึงจะอยู่ในที่บังคับอย่างไรก็จะดิ้นหรือซนเรื่อยไป.
จุดไต้ตำตอ : สำนวนนี้ หมายถึงการพูดกล่าวขวัญหรือทำอะไรสักอย่าง โดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้จักคนผู้นั้นครั้นพอรู้ความจริง ผู้พูดหรือผู้ทำกลายเป็นคน " ห้าแต้ม " ไปเลย ถ้าเป็นการพูดกล่าวขวัญในทางร้ายหรือนินทาด่าคนผู้นั้นเข้า ดีไม่ดีก็ต้องเคราะห์ร้ายเปรียบเหมือนจุดไต้ไปตำเข้ากับตอถึงไฟดับ สำนวนนี้เข้าใจว่า มาจากการจุดไต้ให้ไฟสว่างของคนสมัยโบราณ ซึ่งใช้เป็นไฟฉายส่องทาง แล้วเอาไต้ไฟไปชนเข้ากับต่อถึงดับ.
ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ : สำนวนนี้ มักใช้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ชาย ซึ่งตามหลักที่ว่าผู้ชายจะทำอะไรก็ต้องให้เก่งกล้าหรือองอาจ ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง โดยเฉพาะหมายความว่า ขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วจะต้องเก่งกล้าสามารถทุกคนเปรียบได้กับเสือ เพราะเสือเป็นสัตว์ดุร้ายแต่เก่งถือเอาลายของมันเป็นสัญลักษณ์ของความเก่งกาจซึ่งเรามักพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า " ชาติเสือไม่ทิ้งลาย " อันมีความหมายอย่างเดียวกัน.
ชายสามโบสถ์ หญิงสามผัว : สำนวนนี้ ประโยคแรกหมายถึง ผู้ชายที่บวชเป็นพระ ๓ ครั้งคือบวชแล้วสึก สึกแล้วบวชอีกถึง ๓ หนด้วยกัน ส่วน "หญิงสามผัว" นั้นคือหญิงที่แต่งงานแล้วมีสามีมาแล้ว ๓ ครั้งหรือ ๓ คน โดยมีสามีคนแรกแล้วเลิกร้างกันไป มามีคนที่สองเลิกล้างกันไปอีกจนถึงคนที่สามก็ต้องเลิกล้างกันไปอีก สำนวนนี้หมายความว่าผู้ชายที่บวชมาแล้ว ๓ ครั้ง กับผู้หญิงที่ผ่านการมีสามีมาแล้ว ๓ คน โบราณมีข้อห้ามมิให้เพศตรงข้ามไปมีสัมพันธ์ทางรักใคร่หรือชู้สาวด้วย คือผู้หญิงก็ไม่ควรไปมีสามีชนิดนี้ หรือผู้ชายก็ไม่ควรไปมีภรรยาชนิดนี้เข้า ซึ่งตามความเข้าใจว่าบุคคลชนิดนี้ใจคอไม่มั่นคงหรือรวนเลได้โดยสังเกตเอาอาการกระทำเป็นเครื่องวัด แต่ตกมาถึงสมัยนี้ เข้าใจว่า คงจะไม่มีใครค่อยเชื่อว่าถือกันเท่าไรนัก.
ช้า ๆ ได้พร่าเล่มงาม : สำนวนพังเพยนี้ หมายถึง การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้ามุ่งจะให้ได้ประโยชน์สมบูรณ์ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ หรือไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก หรือไม่หมายความว่าจะทำให้งาน " ล่าช้า " จนเกินไป แต่มีความหมายว่า ให้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ สำนวนนี้ คนในสมัยปัจจุบันยังข้องใจอยู่ว่าจะขัดกับสำนวนพังเพยที่ว่า " น้ำขึ้นให้รีบตัก " ซึ่งแปลว่าให้รีบฉกฉวยโอกาส ตรงกันข้ามกับสำนวนนี้ที่ว่า " ได้พร้าเล่มงาม " แต่แท้จริงแล้ว เป็นคำพังเพยที่เตือนให้เราเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมต่างหาก จะช้าหรือรีบร้อนจึงต้องแล้วแต่โอกาส.
ชักใบให้เรือเสีย : หมายถึง การพูดหรือทำอะไรให้เป็นที่ขวาง ๆ หรือทำให้เรื่องในวงสนทนาต้องเขวออกนอหเรื่องไป โดยไม่คิดว่าเรื่องที่เขากำลังพูดหรือทำอยู่นั้นจะมีความสำคัญขนาดไหน.
ชาติคางคกยางหัวไม่ตกไม่รู้สำนึก : สำนวนนี้ หมายถึง คนที่อวดดีหรือชอบกระทำนอกลู่นอกทางเมื่อมีคนทักท้วงก็ไม่เชื่อฟัง ยังขืนกระทำ จนเขาหมั่นไส้ปล่อยให้ลองทำเพื่อจะให้รู้สึกตัวบ้าง เพราะเชื่อว่าการกระทำนั้น ๆ จะต้องได้รับอันตรายถึงเลือดตกหรือเจ็บปวดเข้าก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งเปรียบเทียบได้กับเด็กที่ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง เมื่อห้ามด้วยปากไม่เชื่อก็ต้องใช้ไม้เรียวเฆี่ยนทำให้เจ็บตัวเสียก่อนจึงจะรู้
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ : สำนวนทำนองนี้ มีอยู่ด้วยกันหลายประโยค และมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน เช่น " ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ " " ดูข้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน " ดังที่ได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว แต่สำนวนที่ว่า " ดูช้างให้ดูหาง " นี้ มุ่งให้ดูหางช้าง ที่บอกลักษณะว่าเป็นช้างดีหรือช้างเผือก เพราะที่ปลายหางของมันยังเหลือให้เห็นสีขาวอยู่ตามเรื่องที่เล่าว่า เวลาช้างพังตกลูกเป็นช้างเผือกสีประหลาด พวกช้างพลายและช้างพังจะช่วยกัน " ย้อม " กลายลูกมันเสีย ด้วยการใช้ใบไม้หรือขี้โคนดำ ๆ พ่นทับ เพื่อมิให้คนรู้ว่าเป็นช้างเผือกแล้วมาจับไป หรืออย่างไรไม่แน่ชัด แต่การย้อมลูกของมันด้วยสีเผือกให้เป็นสีนิลนั้น ก็ยังเหลือร่องรอยอยู่อย่างหนึ่ง คือที่ปลายหางเป็นสีขาว เหตุนี้เขาจึงให้สังเกตลักษณะของช้างเผือกที่ตรงหางไว้เป็นหลักสำคัญ.
ได้แกง เทน้ำพริก : เป็นสำนวนที่มีความหมายอธิบายง่าย ๆ เปรียบเทียบว่า ได้ใหม่ลืมเก่านั่นเอง มักจะใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยว่า ผู้ชายเราที่ได้ภรรยาใหม่ก็ทิ้งเก่าไปเลย คำว่า " น้ำพริก " หรือ " น้ำพริกถ้วยเก่า " เราจะหมายถึงภรรยาเก่าโดยเฉพาะ เพราะ " น้ำพริก " เป็นอาหารประจำวันของคนไทยเราที่ไม่มีการยักย้ายเปลี่ยนแปลงเหมือนแกงหรือผัด และมักจะมีประจำเกือบทุกมื้อก็ว่าได้.
ดอกกระดังงาไทย ไม่ลนไฟไม่หอม : ตามความหมายของสำนวนอย่างหนึ่งว่า สิ่งใดก็ตามถ้าปล่อยทิ้งไว้เปล่า ๆ หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งธรรมดาไม่ดีหรือไม่เลว แต่ถ้าไปทำให้มีเรื่องขึ้น กลับดูเหมือนจะทำให้ดีกว่าเก่ายิ่งขึ้นกว่าเดิม ตามความหมายดังกล่าวนี้ เราจึงมักจะเอามาใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยว่า หญิงสาวบางคนที่บริสุทธิ์นั้นดูเป็นสิ่งธรรมดาไม่มีอะไรเป็นจุดเด่นหรือแปลก แต่ถ้าได้แต่งงานหรือมีสามีเสียครั้งหนึ่งแล้ว เลิกร้างกันกลับกลายเป็น " แม่หม้ายเนื้อหอม " ไปได้ เปรียบกับดอกกระดังงาไทย เมื่อเอามาลนไฟด้วยเทียนขี้ผึ้งจะมีกลิ่นหอมแรงขึ้น.
เด็ดบัวไม่ไว้ใย : หมายความว่า ตัดสัมพันธุไมตรี หรือ ความเป็นมิตรสนิท หรือเคยเป็นคนรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน อย่างชนิดที่ไม่ยอมคืนดีกัน การที่เอาดอกบัวมาเปรียบก็เพราะเหตุที่ว่า ดอกบัวนั้นถ้าเราหักก้านดอกลง ตรงรอยหักมักจะมีเยื่อหรือใยก้านติดอยู่ ไม่ค่อยขาดจากกันง่าย สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า " เด็ดบัวอย่าเหลือใย " หรือ อีกสำนวนหนึ่งว่า " เด็ดปลีไม่มีใย " ปลี หมายถึงดอกของกล้วยหรือหัวปลี.
เดินตามหลังราชสีห์ ดีกว่าเดินตามก้นสุนัข : ไม่ทราบที่มาของสำนวนนี้แน่ชัดนัก แต่เข้าใจว่า เป็นสำนวนที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ หรือไม่มีนานมานี้นัก จำได้ว่าอดีตนักศิลปินผู้หนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว คือคุณเสน่ห์ โกมรชุนนำมาใช้เป็นมติของเขาครั้งหนึ่ง สมันที่ร่วมวงกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งเรืองอำนาจในสมัยนั้น โดยถือคติยอมเป็นสมัคพรรคพวกของผู้มีอำนาจราชศักดิ์ดีกว่ายอมร่วมวงกับผู้ที่ปราศจากอำนาจราชศักดิ์หรือทรัพย์สิน